รู้ไว พร้อมเตรียมตัว อุ่นใจก่อน!!! ในงาน Good Living for Aging Society ครั้งที่ 4 โซนที่จัดอยู่ในงาน Money Expo Year-End 2019 ระหว่างวันที่ 28 พ.ย.-1 ธ.ค. 2562 กับคอนเซ็ปต์ “Together Longer” รับฟังสัมมนาความรู้ การเตรียมความพร้อมรองรับวัยเกษียณอย่างมีความสุข ในหัวข้อพิเศษ “การเงินอุ่นใจ บ้านอบอุ่น รับชีวิตเกษียณ” กับแนวคิดที่เปลี่ยนไป เรื่องที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยที่อาจจะไม่ได้อยู่กับครอบครัว เพื่อตั้งเป้าหมายการเงินให้พร้อมรองรับชีวิตวันข้างหน้า พบกับผู้เชี่ยวชาญที่มาให้ความรู้ โดย ศศิวิมล สิงหเนตร Happy Director MEESUK SOCIETY ผศ.ดร.ดวงใจ หล่อธนวณิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาธุรกิจและการดูแลสังคมสูงอายุ คณะบัญชีและบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และราชันย์ ตันติจินดา CFP นักวางแผนการเงิน ในวันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2562 ในเวลา 14.30-15.30 น.
ผศ.ดร.ดวงใจ หล่อธนวณิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาธุรกิจและการดูแลสังคมสูงอายุ คณะการบัญชีและบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า อีก 4 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) ซึ่งจะมีจำนวนผู้สูงอายุคิดเป็น 10% ของจำนวนประชากรในประเทศและในอีก 20 ปีข้างหน้าจำนวนผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนเป็น 30% ของประชากร การเตรียมความพร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะก้าวเข้ามาในอนาคตนี้ ในส่วนของรัฐบาลถือว่ายังไม่มีการเตรียมตัวที่มากพอ เมื่อเทียบกับเอกชน แต่หากมองในส่วนของภาคเอกชนถือว่ามีบทบาทในเรื่องของการเตรียมความพร้อมต่อการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดของการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย คือการเตรียมความพร้อมของตัวเอง จากการศึกษาและดูงานโครงการดูแลผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่นหลายหลายแห่งจะพบเห็นวิวัฒนาการของการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่น คือ ความพร้อมด้านเศรษฐกิจการเงิน ซึ่งในประเทศไทยนั้นในด้านเศรษฐกิจถือว่า ประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ในขณะที่ประชากรในประเทศญี่ปุ่นมีรายได้สูง เนื่องจากมีการเตรียมความพร้อมและจัดทำแผนในการจัดออมด้านการเงิน และขณะเดียวกันรัฐบาลญี่ปุ่นได้มีสวัสดิการสำคัญในการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ
“เรียกง่ายๆ คือคนแก่ในญี่ปุ่นมีการเตรียมความพร้อมด้านการเงิน เพื่อรองรับในช่วงเกษียณอายุ ทั้งในส่วนที่อยู่อาศัยในเมืองและกลุ่มที่อยู่อาศัยในชนบท แต่ประชากรไทยโดยส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ไม่มีความพร้อมทางด้านการเงินและการใช้ชีวิตหลังการเกษียณอายุ”
จากการศึกษาดูงานในประเทศญี่ปุ่นพบว่า ปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญ คือการสนับสนุนให้เกิดการป้องกันปัญหาการเกิดผู้ป่วยติดเตียง เนื่องจากในอดีตผู้สูงอายุในญี่ปุ่นมีปัญหาการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) และโรคสมองเสื่อมจำนวนมาก ดังนั้นแนวทางในการแก้ปัญหาคือ ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ หลังการรักษาและพักฟื้น
ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุคือ ทำอย่างไรให้ไม่เกิดปัญหาการป่วยติดเตียงของผู้สูงอายุ เนื่องจากต้นทุนการรักษาสูงมาก ซึ่งปัญหานี้รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการวางแผนในการป้องกันมากกว่าการแก้ไข ภายหลังจากเกิดปัญหาแล้ว เพราะปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นสูญเสียเม็ดเงินในการดูแลผู้ป่วยในช่วงสุดท้ายของอายุสูงมาก โดยใช้งบการดูแลถึง 70%
สำหรับประเทศไทยการวางแผนมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากต้นทุนการรักษาแพงมากเมื่อเทียบกับการเตรียมความพร้อมและป้องกัน ดีกว่าการแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาแล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมตั้งแต่ช่วงอายุ 30 – 40 ปี เพื่อให้เราสามารถดูแลตนเองได้โดยไม่ต้องลำบากลูกหลานให้มารับผิดชอบดูแลเมื่อเรามีอายุมากขึ้น
ทั้งนี้ผู้สูงอายุในประเทศไทย กว่า30% ของจำนวนประชากรมีรายได้อยู่ที่ 2,700 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่ามีรายได้ค่อนข้างต่ำ ทำให้มีปัญหาในการดูแลตนเองเมื่อมีอายุมากขึ้น ขณะที่ผู้มีรายได้ระดับกลางที่สามารถดูแลตนเองได้หลังปลดเกษียณมีสัดส่วนอยู่ที่ 5- 10% แต่อีกกว่า 90 – 95% ในวัยหลังเกษียณต้องพึ่งพาอาศัยการดูแลของบุตรหลาน
อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยมีโครงการต่างๆ รองรับกลุ่มผู้สูงอายุ ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้งบประมาณการเตรียมความพร้อมรองรับด้านที่อยู่อาศัยผู้สูงวัยในชนบทค่อนข้างเยอะ แต่ในกรุงเทพฯนั้นการเตรียมความพร้อมด้านที่พักอาศัยมีจำนวนน้อยมาก เช่น บ้านพักคนชรา ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นน้อยมาก ขณะที่ภาคเอกชน มีการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุออกมาจำนวนมาก โดยปัจจุบันมีราว 800 แห่งทั่วประเทศที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์
รศ.ดร.ดวงใจ กล่าวว่า และเพื่อรองรับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย จึงก่อตั้งศูนย์เอบีซีดี ดำเนินงานส่งเสริมผู้สูงอายุ 2 ด้าน ประกอบด้วย 1. การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสร้างรายได้จากการธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล สบู่ ยาสีฟัน อาหาร 2.ศูนย์ให้คำปรึกษาสำหรับผู้ป่วยผู้สูงอายุที่ต้องการพักฟื้นดูแลสุขภาพให้ใช้ชีวิตได้ตามปกติ
“หัวใจสำคัญของโฮมแคร์ญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จ ให้ความสำคัญการดื่มน้ำ 1,500 ซีซีต่อวัน อาหารและโภชนาการ ด้านการขับถ่าย และออกกำลังกาย และศูนย์โฮมแคร์ไฮเอนด์ของญี่ปุ่น จะมีบริการที่แตกต่าง อย่างห้องสมุดที่ดีมาก เอกสารและวารสารใหม่เพื่อให้สมองทำงานตลอด”

คุณศศิวิมล สิงหเนตร Happy Director MEESUK SOCIETY เปิดเผยว่า การเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกสถานที่สำหรับผู้สูงอายุ หรือบ้านพักคนชรา สิ่งสำคัญต้องเข้าใจผู้สูงอายุด้วยว่ามีความพร้อมสำหรับการเข้าเนิร์สเซอรี่ โดยเฉพาะเรื่องของภาวะจิตใจ เพราะเป็นช่วงสุดท้ายของชีวิตที่ผู้สูงอายุต้องการความสุข รวมทั้งต้องพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน
สำหรับในประเทศไทย บ้านพักคนชราถูกแบ่งออกมา 3 ประเภท
- องค์กรการกุศล ในรูปแบบนี้ผู้สูงอายุต้องสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ป่วยและแข็งแรง โดยจ่ายเงินค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวและสามารถเข้าไปอยู่อาศัยจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต แต่ไม่สามารถส่งมอบเป็นมรดกให้กับบุตรหลานได้
- บ้านพักคนชราที่พัฒนาขึ้นโดยเอกชน สามารถซื้อขายเป็นกรรมสิทธิ์และตกทอดเป็นมรดกให้ลูกหลานได้
- เนิร์สซิ่งโฮม มีบริการดูแลลผู้สูงอายุ แต่ไม่ได้เป็นที่รักษาผู้ป่วยสูงอายุ ในส่วนของโครงการบ้านมีสุข อัตราค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ย เริ่มต้นที่ 20,000 บาทต่อเดือน โดยเป็นรูปแบบพักรวม 4-6 คน และห้องพักแบบเดี่ยวราคาโดยเฉลี่ย 60,000 บาทต่อเดือน ถือว่าราคาถูกกว่าญี่ปุ่น 30% ส่วนกลุ่มผู้อยู่อาศัยที่มีโรคแทรกซ้อนหรือต้องการบริการที่มากกว่าปกติมีค่าใช้เพิ่มเติม
ทั้งนี้ แนวทางการเตรียมความพร้อมรับมือ และการเตรียมตัวด้านทางการเงิน เพื่อรองรับการดำเนินชีวิตวัยหลังเกษียณ ส่วนตัวแล้วจัดสรรเงินออมต่อเดือนราว 30% ของรายได้แต่ละคน ซึ่งจะทำให้มีเงินสะสมไว้ใช้หลังเกษียณมากพอ ท้ายที่สุดแล้วคนไทยต้องเน้นวิธีการป้องกันมากกว่าการแก้ไขหลังจากการเกิดปัญหา เพราะต้นทุนการรักษาพยาบาลสูงกว่าต้นทุนการป้องกัน ขณะที่รัฐบาลก็ไม่ได้มีสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุสูงเท่ากับญี่ปุ่น
สำหรับ การเตรียมความพร้อมรองรับใช้ชีวิตหลังเกษียณ ภายใต้แนวคิด Smart ของบ้านมีสุข ประกอบด้วย การเลือกที่อยูอาศัย ตามด้วยการเพิ่มมูลค่าเงินจากการลงทุน การเลือกผู้ช่วยหรือที่ปรึกษาวางแผนทางการเงินและดูแลเมื่อยามเจ็บป่วย และต้องมีบริการและกิจกรรมต่างๆ ให้กับผู้สูงอายุป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้า รวมถึงการออกกำลังกาย

นายราชันย์ ตันติจินดา CFP นักวางแผนการเงิน เผยถึงการคำนวณเงินให้พอใช้ในครัวเรือนหลังเกษียณ ค่าใช้จ่าย 35,000 บาทต่อเดือน หรือ 420,000 บาทต่อปี เมื่อเกษียณตอนอายุ 60 ปี ในขณะที่อายุของคนไทยที่จะมีชีวิตอยู่โดยเฉลี่ย 85 ปี ดังนั้นจะมีระยะเวลาใช้ชีวิตหลังเกษียณราว 25 ปี เมื่อคำนวณแล้วหากต้องการมีเงินเก็บเพื่อให้พอใช้หลังเกษียณจำนวน 10.5 ล้านบาท
สำหรับวิธีการคำนวณเงินให้พอใช้หลังเกษียณ มีด้วยกัน 4 ขั้นตอน
- ประมาณค่าใช้จ่ายต่อเดือน
- คูณระยะเวลาหลังเกษียณ
- คำนวณผลกระทบจากเงินเฟ้อ
- คำนวณหาเงินลงทุนแต่ละเดือน
เริ่มต้นจากตอนที่มีอายุ 30 ปี เมื่อเกษียณอายุ 60 ปี จำนวนปีก่อนเกษียณ 30 ปี ดังนั้นการคำนวณหาเงินลงทุนแต่ละเดือนที่อัตราผลตอบแทน มีดังนี้
- เงินลงทุนแต่ละเดือนที่อัตราผลตอบแทน 3% ต่อปี ราว 1,716 บาทต่อเดือน
- เงินลงทุนแต่ละเดือนที่อัตราผลตอบแทน 5% ต่อปี ราว 1,202 บาทต่อเดือน
- เงินลงทุนแต่ละเดือนที่อัตราผลตอบแทน 7% ต่อปี ราว 820 บาทต่อเดือน
สำหรับการวางแผนทางการเงินเพื่อรองรับชีวิตเกษียณ ควรแบ่งเงินออกเป็นก้อน อย่างก้อนแรกอยู่ในรูปแบบการออมทรัพย์ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.5 – 1.7% หรือเลือกฝากประจำก็จะมีดอกเบี้ยสูงขึ้น ส่วนก้อนที่ใช้ในการลงทุนหรือเพิ่มมูลค่าให้เงินออม จำเป็นต้องมีที่ปรึกษาด้านการลงทุนที่ไว้ใจได้ แต่การลงทุนที่ดีที่สุด ผู้ลงทุนต้องศึกษาด้วยตัวเอง ซึ่งช่องทางการศึกษามีหลากหลายวิธี เช่น ศึกษาจากแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นต้น

ทั้งนี้ภายในงานยังพบกับกิจกรรม “สติ๊กเกอร์ไลน์ ทำเองได้ง่ายนิดเดียว” โดยวรางคณา จำปาทอง (ชมภู่) Action to goals แนะเคล็ดลับการทำสติ๊กเกอร์ไลน์ใช้เองง่ายๆ ผ่านแอพพลิเคชั่น LINE Creators Studio สร้างสรรค์ภาพสติ๊กเกอร์สุดน่ารักด้วยภาพของตัวเราเอง หรือจะเป็นภาพของคนรัก สัตว์เลี้ยงตัวโปรด พร้อมกับความสามารถด้วยฟังก์ชันสุดเจ๋ง เช่น ใส่ข้อความในรูปถ่ายสติ๊กเกอร์ เปลี่ยนบรรยากาศให้รูปถ่ายด้วยฟิลเตอร์หลากชนิด การวาดรูปทำสติ๊กเกอร์ได้อย่างอิสระ และความสามารถอื่นๆ อีกมากมาย กับสติ๊กเกอร์ชุดพิเศษด้วยขั้นตอนง่ายๆ โดยขั้นต่ำจำนวน 8 ภาพ ในการสร้างสรรค์สติ๊กเกอร์ที่มีคาแรคเตอร์เฉพาะตัว ที่เราสามารถตั้งชื่อได้เอง งานนี้จะทำใช้เองสนุกๆ เพื่อใช้กันเองในครอบครัว หรือส่งให้เพื่อน เพื่อให้การแชทของคุณพิเศษสุดก็ยังได้ และยังสามารถนำไอเดียสติ๊กเกอร์ที่ออกแบบชุดพิเศษของไปวางขายที่ร้านสติกเกอร์ LINE ได้อีกด้วย เรียกได้ว่าได้ทั้งความสนุกและได้เงินด้วย ทั้งยังเป็นแอพพลิเคชั่นที่โหลดฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย รองรับสมาร์ทโฟนทั้งระบบ Android และ iOS อีกด้วย
สำหรับวันนี้ใครที่พลาดงานสัมมนาสาระดีๆ ไป Good living for Aging Society ยังขนทัพสาระความรู้กับสัมมนาในหัวข้อที่น่าสนใจจัดเต็มแบบ 4 วันรวด โดยวันพรุ่งนี้ 1 ธันวาคม 2562 ในเวลา 14.30-15.30 น. พบสัมมนาในหัวข้อพิเศษ “ชีวิตไม่มีแก่ ดูแลถูกวิธี สร้างสัมพันธ์คนใกล้ชิด” จะทำร่างกายให้แข็งแรงได้ยาวนานที่สุดอย่างไร มาฟังความรู้จากนักกายภาพบำบัด และการดูแลผู้สูงวัยที่ถูกวิธี เช่น เทคนิคช่วยพยุงผู้สูงวัย-ลุกนั่ง-เดิน โดย ผศ.ดร.กภ.ภครตี ชัยวัฒน์ รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล และพบกับแรงบันดาลใจที่จะทำให้อยากสตรองและสมาร์ท โดยนักแสดงสูงวัย เดือนเต็ม สาลิตุล แล้วเจอกัน!!!